เผยแพร่เมื่อ : จันทร์ 14 ธันวาคม 2563 โดย รัตนาภรณ์ สารภี จำนวนผู้เข้าชม 15465 คน
หากเราต้องการให้สังคมภาพนอกรู้จักว่าภายในชุมชนนั้นๆ มีดีอย่างไร "การประชาสัมพันธ์" เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะช่วยทำให้นักท่องเที่ยวรู้จัก และแวะเยี่ยมชมวิถีชีวิต แหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวของชุมชน รวมถึงศึกษาแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาชาวบ้าน และเลือกซื้อสินค้าเกษตรแบบเศรษฐกิจพอเพียง หรือแม้กระทั่งการเข้าพักโฮมสเตย์ที่ชุมชนได้จัดเตรียมได้
คุยเฟื่องเรื่องเทคโนโลยีกับสถาบันถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน(สถช.) กับ เรื่องราวรู้หรือไม่? .... วันนี้พี่ TechTalk ขอแนะนำ "แนวทางการสร้างสื่อเพื่อประชาสัมพันธ์กิจกรรมของชุมชน" ผลงานวิจัยของนักวิจัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เพื่อช่วยให้นักท่องเที่ยวรู้จักแหล่งท่องเที่ยวในชุมชน ดังนี้
นักวิจัยได้เลือก บ้านแม่สูนน้อย หมู่ที่ 3 ของตำบลแม่สูน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นกรณีศึกษาในการการ "สร้างสื่อประชาสัมพันธ์ชุมชน" นำเสนอภาพวิถีชีวิตชุมชนในรูปแบบภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว เป็นการตอบโจทย์ขยายช่องทางการรับรู้ให้นักท่องเที่ยวรู้จัก และดึงดูดผู้สนใจเข้ามาเยี่ยมชมชุมชน
ข้อมูลหลักที่ชุมชนฯ ต้องการสื่อสารให้นักท้องเที่ยวได้รู้จักและมาเยี่ยมชมวิถีการดำเนินชีวิตหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงชองชุมชนบ้านแม่สูนน้อย ที่มีวิถีในการดำรงชีวิตอย่างง่ายๆ รวมถึงมีแหล่งเรียนรู้มากกว่า 40 แหล่ง เช่น แหล่งเรียนรู้ทางศิลปะ แหล่งเรียนรู้การจัดการขยะกลับมาใช้ใหม่ แหล่งเรียนรู้งานหัตถกรรมกระเป๋าปัก แหล่งเรียนรู้การทำไม้กวาด และมีแหล่งท่องเที่ยวที่หลากหลาย เช่นเส้นทางทางธรรมชาติระบบนิเวศ พระธาตุทันใจ ภาพฝาผนังวิถีชีวิตคนเมืองวิหารวัดวิเวกการาม โฮมสเตย์บ้านแม่สูนน้อย
ดังนั้น สื่อประชาสัมพันธ์แบบมีส่วนร่วมของชุมชน มุ่งไปที่กลุ่มเป้าหมายที่เป็นนักท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ช่วงอายุ 25-40 ปี รู้จักและมาเยี่ยมชม ศึกษาแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาชาวบ้าน ซื้อสินค้าเกษตรแบบเศรษฐกิจพอเพียง และเข้าพักโฮมสเตย์บ้านแม่สูนน้อย
นักวิจัยดำเนินการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาออกแบบสื่อประชาสัมพันธ์ของชุมชนฯ นำเสนอภาพวิถีชีวิตชุมชนในรูปแบบภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว ประกอบด้วย ป้ายบอกทางประชาสัมพันธ์ชุมชน สำหรับติดโฆษณาข้างทาง ขนาด 120 ซม.X240 ซม. จำนวน 15 ป้าย และวิดีโอประชาสัมพันธ์ชุมชน จำนวน 1 เรื่อง โดยมีขั้นตอนการดำเนินการ ดังนี้
1. ศึกษาการจัดการข้อมูลชุมชน โดยให้ชุมชนบ้านแม่สูนน้อยเข้ามามีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นระดมความคิดเห็นเพื่อกำหนดชุดข้อมูลที่ต้องการนำเสนอ ได้แก่
1.1 ข้อมูลผลิตภัณฑ์ แหล่งท่องเที่ยว กำหนดกลุ่มผู้บริโภค
1.2 วางแผนภาพลักษณ์ชุมชน (กำหนดให้ชุมชนจัดอยู่ในหมวดหมู่ของ Natural สนิทสนม คุ้นเคย ดึงดูด มีน้ำใจ)
1.3 กำหนดวางแผนการออกแบบ
2. จัดทำแบบร่างป้ายโฆษณาข้างทาง 3 แบบให้ ชุมชนเลือก 1 แบบ นำไปปรับปรุงแก้ไขเป็นแบบร่างสมบูรณ์ของป้ายโฆษณาข้างทาง
3. เขียนโครงเรื่องโดยชุมชนมีส่วนร่วม จัดทำแบบร่างเล่าเรื่อง กำหนดนักแสดง ถ่ายทำ ตัดต่อวิดีโอประชาสัมพันธ์
4. จัดทำแบบสอบถามมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายประเมินความพึงพอใจต่อการใช้สื่อ และนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ผล
5. นำผลการวิเคราะห์ข้อมูล มาปรับปรุงแก้ไขและนำไปผลิตเป็นผลงานสมบูรณ์
2 ลักษณะ
1. การออกแบบป้ายโฆษณาข้างทาง ใช้ทักษะการถ่ายภาพจากสถานที่จริง มีการคำนึงถึงโครงสร้างที่แข็งแรงและการนำไปติดตั้งตามที่สัญจรบนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 107 ตามระยะทางที่กำหนดไว้ในแต่ละป้าย ตั้งแสดงไว้ในที่ผู้คนพบเห็น ได้ง่ายและสะดุดตา
2. การถ่ายภาพวิดีโอประชาสัมพันธ์ประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นที่หาดูได้ยาก ต้องมีเทศกาลถึงได้มีการแสดงเกิดขึ้น เรียนรู้การใช้โปรแกรมในการตัดต่อภาพเทคนิค พิเศษต่างๆในการนำเสนอ (ดูที่ https://youtu.be/eXEjno-tjx8 )
สุดท้ายนี้ พี่ TechTalk หวังว่า แนวทางการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ชุมชนนี้ จะเป็นไอเดียการช่วยให้เพื่อนๆ สามารถนำไปปรับใช้ เพื่อขยายช่องทางการรับรู้ให้คนทั่วไปรู้จัก และการสร้างโอกาสให้เกิดรายได้จากที่นัดท่องเที่ยวแวะเยี่ยมชมชุมชนของเพื่อนๆ รวมถึงการเลื้อกซื้อผลิตภัณฑ์ชุมชนได้นะครับ
ผลงานวิจัยฉบับสมบูรณ์เรื่อง : การสร้างสรรค์สื่อประชาสัมพันธ์แบบมีส่วนร่วมของชุมชนบ้านแม่สูนน้อย ตำบลแม่สูน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ (จันทร์จิรา นที, 2562)
สามารถอ่านเล่ม ได้ที่ ห้องคลังความรู้ชุมชน มุมผลงานวิจัย มทร.ล้านนา
หรืออ่านแบบออนไลน์ได้ที่ URL Link : https://rmutlresearch.blogspot.com/2020/12/2562.html
ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา